วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551

เกาหลีใต้ทิ้งไทย10ปี!

เกาหลีใต้ทิ้งไทย10ปี!
โดย บท บ.ก. [20-11-2007]
อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า Creative Industry ซึ่งคำนี้มีความหมายครอบคลุมในหลายกลุ่มธุรกิจเช่น ธุรกิจโฆษณา (วันนี้ต่างชาติครอบครองส่วนแบ่งตลาดไปเกือบ 100%) แอนิเมชั่น ภาพยนต์ เกม กราฟิกดีไซน์ หรือสินค้าในกลุ่มทางวัฒนธรรม(ดนตรี ศิลป ท่องเที่ยว)

ถามว่า วันนี้สถานะและมูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์มีมูลค่าเท่าใด คำตอบชัดๆ คือ มีมูลค่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ภาพยนต์ หรือผ้าทอ ในขณะที่ตลาดรองรับสินค้าของ Creative Industry ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่มีกำลังซื้อสูง และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกๆปี
ซึ่งมูลค่าในการนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้ทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 40,421 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1994 เป็น 63,668 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2002 และประเทศที่นำเข้าสินค้ามากที่สุด 5 อันดับแรก รวมแล้วมีมูลค่ามากกว่า 50% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของโลกคือ สหรัฐอเมริกา มาเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา และฝรั่งเศส
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะผลักดินสินค้าเชิงสร้างสรรค์สู่เวทีการค้าโลก และสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น...?
เรื่องนี้มีคำตอบ และเป็นคำตอบที่ไม่สร้างสรรค์เท่าใดนักเพราะ ในเรื่อง Creative Industry ของไทยวันนี้มองแล้ว เท่ากับว่า เพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 10 (2550-2554) ก็ไม่ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า มีเป้าหมายอย่างไร และในเรื่องนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ซึ่งท่านวิเคราะห์ไว้อย่างนี้
“อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ หากเทียบกับเกาหลีใต้ เราถูกทิ้งไปอย่างน้อย 10 ปีเพราะ การจะผลักดันเรื่องนี้ ขึ้นกับทางการเมืองด้วยว่า ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้แค่ไหน และใครจะเป็นเจ้าภาพที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนเพราะ วันนี้มีไม่น้อยกว่า 15 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และต่างคนต่างทำ จึงทำให้การพัฒนาไม่สามารถเดินไปได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟู วิจัยพัฒนา การตลาด และบุคลากร”
ดร.อาคมยังทิ้งท้ายไว้ว่า ในส่วนตัวน่าจะตั้ง “องค์กรพิเศษ” ขึ้นมาเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในเรื่องนี้ และมีเป้าหมายชัดเจนว่า ในอีก 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า เราอยากเป็นภาพอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ของไทยอย่างไร เพราะ การทำเรื่องนี้ ไม่ใช่จะทำได้ทันทีเพราะ ต้องทำวิจัย และพัฒนาหลายปี กว่าจะคลอด Action Plan ออกมาได้ อย่างเช่น เกาหลีใต้วันนี้ที่เติบโตเร็วมาก และส่งสินค้าวัฒนธรรมออกมาตีตลาดโลก เขาคิดกันมาเป็นสิบปี กว่าจะส่งผลเป็นเม็ดเงินที่กอบโกยเข้าประเทศได้ในขณะนี้
กระบวนการคิดและผลักดัน Creative Industry มีความสำคัญมากเพราะ เป็นการขับเคลื่อนด้วยสมอง ที่สามารถสร้าง “มูลค่าเพิ่ม”ได้ อย่างเช่น สตีฟ จ็อบส์ ผลิตไอโฟนขายดีทั่วโลกจำนวนหลายล้านเครื่อง ชิ้นส่วน และ การผลิตอยู่ในประเทศจีน โดยสตีฟเป็นเพียงคนคิด และควบคุม ที่สำคัญคือ สามารถกินส่วนต่างการการตลาดได้มากที่สุดด้วย
ประเทศไทยวันนี้ยังอยู่ใน “ขั้นเริ่มต้น” และยังไม่รู้ด้วยว่า รัฐและเอกชนจะเดินไปทิศทางไหนเพราะ การผลักดันจะต้องดูตั้งแต่ต้นนำถึงปลายน้ำ และมองอย่างบูรณาการแบบครงวงจร เหมือนเช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยตั้งเป็นองค์พิเศษขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ และเป็น “มันสมอง” ที่คอยคิดว่า จะสร้าง content และต่อยอดได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพยนต์ เกม แอนนิเมชั่น ดนตรี และศิลปะ
รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับ Creative Industry ติดตามได้จาก Cover Story ฉบับนี้ได้!

ไม่มีความคิดเห็น:

 
Reciprocal Links Directory - Smarty Links is the right place to get linked!